Search This Blog

ร้อยแปดพันเก้า : เทคโนโลยีและหุ่นยนต์ ตอบสนองเมื่อโลกวิกฤติ (คลิป) - ไทยรัฐ

sumpatteknologi.blogspot.com

จินตนาการในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ แฟนตาซี ความตื่นตาตื่นใจเทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ที่ปรากฏ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนคิดฝันว่าจะกลายเป็นจริงเข้าสักวัน แต่ในขณะที่มีคนเฝ้าคอยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ “เอไอ” (Artificial intelligence-AI) และ หุ่นยนต์ จะช่วยในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ รับใช้ให้บริการแก่มนุษย์ในด้านต่างๆ ก็มีอีกฝ่ายที่กังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาแย่งงานมนุษย์ บั่นทอนทางเศรษฐกิจในอนาคตเสียมากกว่า

แต่ที่เคยคิดว่าน่าจะมีแค่ในนิยายหรือในหนัง ก็คือข่าวใหญ่ครึกโครมเมื่อปี 2560 เมื่อบริษัทเฟซบุ๊กได้ประกาศหยุดพัฒนาและปิดระบบหุ่นยนต์เอไอ 2 ตัว หลังจากพบว่าเอไอคู่นี้พัฒนาสร้างภาษาใหม่ขึ้นมาสื่อสารกันได้ ซึ่งก็ชวนคิดว่าหากไม่ตัดไฟเสียต้นลม ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรถ้าปล่อยให้เอไอ 2 ตัวนี้ สื่อสารกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีเสียงแตกออกไปถึงภัยของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จนถึงระดับย่อย และนักพัฒนาออกแบบหุ่นยนต์ต่างมุ่งหน้าสร้างหุ่นยนต์ทรงประสิทธิภาพ เพื่อนำมาใช้งานอย่างกว้างขวาง

ในช่วงเวลานี้เอง ที่โลกเข้าสู่วิกฤติจากโรคระบาดใหญ่ มนุษย์ได้เห็นบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ แสดงศักยภาพอย่างมาก โรคโควิดไนน์ทีน (COVID-19) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ร่วมสู้โควิด-19 อย่างน่าทึ่ง

ภาพใหญ่ๆที่คนเรามักจะมองก็คือ เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ต้องตอบสนองช่วยเหลือมนุษย์ในแง่การลดความเสี่ยง ที่เห็นบ่อยครั้งคือหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคที่นำไปใช้งานตามชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว สถานีขนส่งโดยสาร ไม่ว่าจะทางบก ทางเรือ ทางอากาศ แต่ภาพที่เห็นกันมากขึ้น คือความเติบโต ในการนำหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้ในร้านค้า ภัตตาคาร หรือให้เป็นม้าเร็ววิ่งส่งของ อย่างในเมืองแฟร์แฟ็กซ์ รัฐเวอร์จิเนียในสหรัฐอเมริกา ก็มักจะพบเห็นหุ่นยนต์ดีลิเวอรี 4 ล้อวิ่งไปตามทางเท้าเพื่อส่งสินค้า หรือในเกาหลีใต้ก็มีร้านกาแฟที่นำหุ่นยนต์มาใช้ชงกาแฟและส่งให้หุ่นยนต์อีกตัวนำไปเสิร์ฟ การออกแบบหุ่นยนต์ก็ดูปลอดภัย รูปลักษณ์น่ามอง การใช้สอยก็คล่องตัว

จริงๆแล้ว การใช้งานหุ่นยนต์ประเภทนี้มีมานานก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาด มาถึงขณะนี้ก็นับว่าตอบโจทย์ได้ดีกับมาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ทำให้คนไม่ต้องออกจากบ้าน เพียงสั่งของทางออนไลน์ หุ่นยนต์ก็วิ่งมาส่งทันใจ หรือหากจะต้องออกไปนอกบ้าน ก็เลือกที่จะใช้บริการร้านค้า ร้านอาหารที่มีหุ่นยนต์บริการ ช่วยลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นได้เช่นกัน หรือกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่างที่สิงคโปร์ ผู้คนที่ไปวิ่งหรือเดินออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ ก็จะมีหุ่นยนต์สี่ขาแบบสุนัขคอยสอดส่องเตือนให้ผู้คนรักษาระยะห่างระหว่างกัน

ในด้านการศึกษาก็ต้องเทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อสอดคล้องกับการไม่รวมกลุ่มให้เสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งที่ฟิลิปปินส์ก็ใช้หุ่นยนต์มีศีรษะเป็นแท็บเล็ต แสดงใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสของนักศึกษาที่จบการศึกษา ให้เห็นผ่านทางเฟซบุ๊กแทนการมาร่วมงานตามธรรมเนียมเดิมๆ หรือนักพัฒนาหุ่นยนต์จากสถาบันเทคโนโลยีในเมืองเจนัว แคว้นลีกือรียาในอิตาลี ก็ประดิษฐ์หุ่นยนต์ฮิวแมนอยด์ “ไอคับ” (iCub) สามารถขยับศีรษะ แขนขา มองเห็น และได้ยินที่จะช่วยในการศึกษาเรียนรู้ของเด็กวัย 3 ขวบครึ่งขึ้นไป สำหรับช่วงที่ปิดเมือง และโรงเรียนปิด

ในทางการแพทย์นับว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อน ยอดการระบาดของไวรัสที่มีผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกไปกว่า 5.7 ล้านราย ตายไปกว่า 3.5 แสนราย ทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าต่อสู้กับโรคแทบรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่พุ่งพรวดไม่ไหว ดังนั้น ตัวช่วยที่ดีที่สุดก็คือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาผ่อนแรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรเหล่านี้ ไม่ต้องให้สัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง รวมถึงทำหน้าที่เป็นสื่อในการเรียนรู้ช่วยฝึกฝนความชำนาญเพื่อรับมือกับผู้ป่วยได้คล่องตัว เช่น ศูนย์ปฏิบัติการฝึกทักษะระบบจำลองที่กรุงบัวโนสไอเรส ในอาร์เจนตินา ก็มีการใช้หุ่น ยนต์เลียนแบบผู้ป่วย ให้แพทย์ได้ฝึกการปฏิบัติและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

แน่นอนว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้จะสนองตอบมนุษย์อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่ายังมีมหันตภัยอะไรที่รอคอยจัดการเราอยู่ในวันข้างหน้า.


กันเกรา

Let's block ads! (Why?)



"เทคโนโลยี" - Google News
May 31, 2020 at 05:02AM
https://ift.tt/2XLkyQH

ร้อยแปดพันเก้า : เทคโนโลยีและหุ่นยนต์ ตอบสนองเมื่อโลกวิกฤติ (คลิป) - ไทยรัฐ
"เทคโนโลยี" - Google News
https://ift.tt/3dNmgbt
Home To Blog


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ร้อยแปดพันเก้า : เทคโนโลยีและหุ่นยนต์ ตอบสนองเมื่อโลกวิกฤติ (คลิป) - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.